ข่าวออนไลน์
ละเอียดยิบ! เปิดเงื่อนไข-ข้อจำกัด "บัตรทองรักษาได้ทุกที่"

ละเอียดยิบ! เปิดเงื่อนไข-ข้อจำกัด "บัตรทองรักษาได้ทุกที่"

ละเอียดยิบ! เปิดเงื่อนไข-ข้อจำกัด

เช็คชัวร์! หลังรัฐคลายล็อกบัตรทอง รักษาได้ทุกที่ ไม่ต้องมีใบส่งตัว แต่ยังคงมีข้อจำกัด "ไม่ได้รักษาได้ทุกที่" และเรื่องควรรู้ที่ผู้ป่วยจะเข้ารับบริการ อาจจะยังไม่รู้


จากกรณีที่วานนี้ (25 ต.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มอบให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการยกระดับระบบสวัสดิการแห่งรัฐด้านสาธารณสุข ด้วยการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีประชาชนผู้มีสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สามารถเข้ารับการรักษาที่ใดก็ได้ และยกเลิกการต้องใช้ใบส่งตัวของผู้ป่วยในกรณีมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่รักษาพยาบาล โดยมีรายละเอียดการคลายล็อกดังนี้


1. ประชาชนสามารถรับการรักษาพยาบาลที่ใดก็ได้ โดยทดลองให้ประชาชนในกรุงเทพมหานคร (กทม.) สามารถไปรับบริการที่ "หน่วยบริการชุมชน อบอุ่น" อันประกอบด้วย คลินิกชุมชนอบอุ่น และหน่วยบริการเฉพาะทางชุมชนอบอุ่น ได้ทุกแห่ง ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ใช้สิทธิบัตรทองจะถูกจับคู่กับหน่วยบริการประจำ (คลินิก) เพียงแห่งเดียวเท่านั้น เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องไปรักษาที่คลินิกประจำนั้น ๆ หากป่วยหนักจนคลินิกรักษาไม่ไหว คลินิกก็จะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพให้รักษาต่อ แต่นโยบายใหม่นี้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองในพื้นที่กทม. จะสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่หลากหลายมากขึ้น โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งเป้าที่จะประสานหน่วยบริการจำนวน 500 แห่ง ให้เข้ามาเป็น "หน่วยบริการชุมชนอบอุ่น" (คลินิกชุมชนอบอุ่น และหน่วยบริการเฉพาะทางชุมชนอบอุ่น)


ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 เป็นต้นไป ผู้ใช้สิทธิบัตรทองในกทม. จะสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการชุมชนอบอุ่นในเขตของตัวเองได้ทุกแห่ง และสามารถนัดหมายการเข้ารับบริการล่วงหน้าได้ โดย สปสช. ได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย พัฒนาระบบนัดหมายการเข้ารับบริการล่วงหน้าผ่าน App เป๋าตัง ซึ่งจะเริ่มให้บริการในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน และจะขยายไปในกลุ่มผู้ป่วยนอกทั้งหมด ในระยะต่อไป


2. "ผู้ป่วยใน"ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไป ทั้งนี้ "ใบส่งตัว" เป็นเอกสารที่ใช้สื่อสารลักษณะโรค อาการป่วย การรับการรักษาเบื้องต้น ซึ่งที่ผ่านมา หากหน่วยบริการประจำ (คลินิก) วินิจฉัยและส่งตัวผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพ ผู้ป่วยต้องไปรับใบส่งตัวจากคลินิกหรือโรงพยาบาลก่อน ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก แต่นโยบายใหม่นี้ หากผู้ป่วยไปรับบริการที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพแล้ว โรงพยาบาลวินิจฉัยว่าต้องแอดมิท (นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล) ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทันที โดยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวอีก เนื่องจาก สปสช. จะจัดทำระบบออนไลน์เพื่อเชื่อมต่อข้อมูล ระหว่างคลินิกกับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพเองโดยอัตโนมัติ


3. ประชาชนแจ้งย้ายหน่วยบริการเมื่อใด รักษาที่ใหม่ได้ทันที โดยที่ผ่านมา เมื่อผู้ใช้สิทธิบัตรทองขอย้ายหน่วยบริการ จะต้องรออีก 15 วัน จึงจะไปรักษาที่หน่วยบริการแห่งใหม่ได้ แต่นโยบายใหม่นี้ ผู้ป่วยไม่ต้องรอ 15 วันอีกต่อไป กล่าวคือ เมื่อมีความประสงค์ที่จะย้ายเมื่อใด ก็สามารถไปรักษาที่ใหม่ได้ทันที ประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทองจึงอุ่นใจได้ว่า เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐาน ก็จะสามารถย้ายหน่วยบริการและเข้ารับการรักษาได้อย่างทันทีอย่างแน่นอน


4. ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและไม่แออัด ทั้งนี้ มะเร็งเป็นโรคที่สร้างความทุกข์ให้กับประชาชนอย่างมาก เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตสูง ค่าใช้จ่ายก็สูงด้วย และ ที่สำคัญคือ โรงพยาบาลบางแห่งเท่านั้นที่มีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็ง จึงเกิดปัญหาคอขวดในการเข้ารับบริการ เกิดความแออัด ต้องรอการนัดหมายที่ค่อนข้างนาน ซึ่งเมื่อผู้ป่วยเข้าถึงบริการรักษาล่าช้า ก็อาจทำให้มะเร็งลุกลามได้โดยไม่จำเป็น


สปสช. จึงมีแนวคิดในการยกระดับการรักษาใหม่ โดยเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง หน่วยบริการผู้วินิจฉัยจะส่งข้อมูลผู้ป่วยมายัง สปสช. เพื่อให้ สปสช.ประสานจัดหาโรงพยาบาลที่ไม่แออัด และมีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็งประเภทนั้น ๆ ได้ทันที ประชาชนก็จะได้รับบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน พร้อมทั้งบริการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน พร้อมด้วยการติดตามอาการและแนะนำการทานยาผ่านระบบสื่อสารทางไกล (Telehealth) ภายใต้การดูแลจากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดอีกด้วย


"การคลายล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ ของบัตรทองในครั้งนี้ คือนโยบายของรัฐบาลในความพยายามที่จะยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อการดูแลรักษาพยาบาลที่ดี มีมาตรฐาน ง่ายและสะดวกสำหรับประชาชนคนไทยทุกคน"นายอนุชา กล่าว



อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าว ก็มีเงื่อนไข และเรื่องต้องรู้อยู่ไม่น้อย ล่าสุด เพจการแพทย์ชื่อดัง "Drama-addict" ของจ่าพิชิต ก็ได้โพสต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบาย "บัตรทอง รักษาทุกที่" เพื่อป้องกันความสับสนที่อาจเกิดขึ้นของประชาชน โดยขอให้ศึกษารายละเอียดของนโยบายที่ว่าให้ดีๆ ก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะเสียเวลาในการเดินทางไปรักษา โดยระบุว่า


1. นโยบายนี้ เริ่มใช้ใน กทม. และปริมณฑล ยังไม่รวมถึงต่างจังหวัดอื่นๆ


2. นโยบายนี้ ที่ระบุว่า "รักษาที่ไหนก็ได้" หมายถึง สถานบริการระดับปฐมภูมิ เบื้องต้นมี หน่วยบริการชุมชนอบอุ่น คลินิคชุมชนอบอุ่น หรือ รพ.สต. ไม่ได้รวมถึง รพ.ใหญ่ๆ เช่น รพ.จังหวัด รพ.ศูนย์ อย่างเช่น รพ.รามา รพ.ศิริราช รพ.ราชวิถี แบบนั้นไม่เกี่ยว


ดังนั้น จะเดินหิ้วยาไปหาหมอที่ศิริราช รามา แล้วบอกว่าขอย้ายมารักษาที่นี่ ตามนโยบายรักษาทุกที่ ไม่ได้นะ เพราะที่นั่นไม่ใช่ระดับปฐมภูมิ


3. ฝากถึงพ่อแม่พี่น้องที่จะย้ายสถานที่รับบริการตามนโยบายนี้ว่า "อย่าย้ายบ่อย" โดยเฉพาะคนเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือด ต้องใช้เวลาในการปรับยา ปรับไลฟ์สไตล์ ปรับการคุมอาหารออกกำลังกาย บางคนหมอไม่เน้นจ่ายยาเยอะ แต่จะพยายามให้คนไข้ปรับแบบนี้ ซึ่งใช้เวลาเยอะกว่า แต่ยั่งยืนกว่า


แต่ถ้าคนไข้ไม่เข้าใจแล้วพอเห็นว่า น้ำตาลไม่ลง ความดันไม่ลง ขอย้ายดีกว่า พอไปเจอสถานบริการที่ใหม่ก็ต้องเริ่มกันใหม่ เสียเวลาโดยใช่เหตุ แล้วถ้าไปเจอแบบจ่ายยาเยอะๆ ไม่ค่อยแนะนำเรื่องออกกำลังกายคุมอาหาร คนไข้อาจจะถูกใจ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องดีในระยะยาว ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ก่อนย้ายสถานบริการดีกว่า ถ้าไม่สะดวกไม่ถูกใจจริงๆ ก็ย้ายได้เลย แต่ถ้าตรงนั้นไปมาไม่ลำบาก แต่อยากย้ายเพราะไม่ถูกใจที่หมอไม่จ่ายยาตามที่ต้องการ อันนี้อย่าเลย เคสแบบนี้มีเยอะมาก


4. ส่วนประเด็นเรื่อง "ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว" หมายถึง กรณีเคสแอดมิท เพราะระบบที่ผ่านมาจะเป็นแบบ สมมติ ลุง A ไม่สบายแล้วอยู่ในเมืองพอดี ก็เลยแอดมิทในรพ.จังหวัด แล้วจะใช้สิทธิ 30 บาท ก็ต้องให้ญาตินั่งรถกลับไปที่อำเภอที่ตัวเองอยู่ แล้วไป รพ.ชุมชนให้หมอออกใบส่งตัวให้ แล้วเอากลับมาที่ รพ.จังหวัด อีกที ซึ่งการแก้ไขในนโยบายใหม่ที่ยกเลิกอันนี้ไปเลยแล้วใช้ออนไลน์แทนถือว่าดีมาก คนไข้จะสะดวกขึ้นเยอะ


5. แต่ไม่เกี่ยวกับกรณีเคสไม่สบาย ไป รพ.แล้วหมอคิดว่าต้องส่งตัวไปเจอหมอเฉพาะทาง หรือส่งไป รพ.ที่มีความพร้อมมากกว่า แบบนั้นยังต้องใช้ใบส่งตัวอยู่ดี แต่ถ้าในอนาคตถ้าเปลี่ยนอันนี้เป็นออนไลน์หมดจะดีมาก


6. แต่จากข้อ 5 มีข้อยกเว้น คือ "กรณีเป็นโรคมะเร็ง" ปรับระบบใบส่งตัวเป็นออนไลน์แล้ว จะได้สะดวกขึ้น


ดังนั้น ขอให้เข้าใจตามนี้ จะได้ใช้นโยบายใหม่ที่ว่าอย่างมีประสิทธิภาพและไม่เกิดความสับสน

Powered by Froala Editor

ข่าวที่คุณอาจสนใจ
TOP NEWS
  • TODAY
  • WEEK
  • MONTH