ข่าวออนไลน์
ส่องระบบรปภ.ห้องฉุกเฉินรพ.อุดรฯ ดีที่สุดในขณะนี้! (มีคลิป)

ส่องระบบรปภ.ห้องฉุกเฉินรพ.อุดรฯ ดีที่สุดในขณะนี้! (มีคลิป)

ส่องระบบรปภ.ห้องฉุกเฉินรพ.อุดรฯ ดีที่สุดในขณะนี้! (มีคลิป)

ประตูอัตโนมัติสองชั้น รปภ.ประจำประตูชั้นละ 1 คน ระบบสแกนบัตรผ่านเฉพาะบุคคลที่มีหน้าที่เฉพาะวันนั้นเท่านั้น ระบบเตือนเหตุฉุกเฉิน การซ้อมแผนรับมือเหตุฉุกเฉินสม่ำเสมอทุก 3 เดือน และตั้งใจจะตั้งสถานีตำรวจภายในด้วย!? นี่ไม่ใช่ระบบการรักษาความปลอดภัยธนาคารใดๆ แต่คือที่นี่...โรงพยาบาลอุดรธานี





"หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของเรา ต้องปลอดภัย ต้องทำงานอย่างสบายใจ และในอนาคต เราจะพยายามประสานให้มีสน.เล็กๆ ในโรงพยาบาลด้วยครับ"



นพ.ณรงค์ ธาดาเดช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี กล่าวกับทีมข่าวทรูโฟร์ยู ก่อนจะให้ภาพคร่าวๆ ของโรงพยาบาลและภารกิจของห้องฉุกเฉินว่า โรงพยาบาลแห่งนี้ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ ขนาด 1,022 เตียง ที่ในแต่ละวัน จะต้องรับผู้ป่วยฉุกเฉินราว 300 ราย หรือมากกว่านั้นในกรณีมีงานบุญ งานเลี้ยง งานระดับจังหวัด เฉลี่ยแต่ละเวรห้องฉุกเฉิน จะมีผู้ป่วยมารักษาประมาณ 70-80 ราย



นพ.ณรงค์ย้อนความถึงการริเริ่มระบบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยแบบใหม่ ภายใต้กรอบความคิด "ห้องฉุกเฉินต้องปลอดภัย" ว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ปี 2562 ได้เกิดความวุ่นวายในโรงพยาบาล รวมถึงภายในห้องฉุกเฉิน ถึง 6 ครั้ง จากกรณีตีและกระทบกระทั่งกันของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย ทำให้กังวลต่อสวัสดิภาพของคนทำงาน จึงได้ประสานงานกับเครือข่ายภาคี เพื่อดูแลสวัสดิภาพของแพทย์ พยาบาล ตลอดจนบุคลากรทุกคนของโรงพยาบาล



นพ.ณรงค์ ธาดาเดช ผอ.รพ.


"แต่ละเวรของห้องฉุกเฉิน รองรับคนป่วยประมาณ 70-80 คน บางทีปั๊มหัวใจพร้อมกัน 3-4 เตียง ถ้าเกิดเหตุวุ่นวายขึ้น เจ้าหน้าที่จะอยู่ไม่ได้ ปฏิบัติการไม่ได้ และที่สำคัญ คนไข้จะเสียโอกาสทางการรักษา "



จึงเป็นที่มาของการริเริ่มปรับแนวทางรักษาความปลอดภัยครั้งใหญ่ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน



"เราร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งโรงพยาบาล จังหวัด ตำรวจ ผู้บังคับการ ผู้กำกับ วิศวกร และทีมแพทย์ฉุกเฉินของเราเอง เราเชิญอ.พอ.นพ.สุรจิต สุนทรธรรม รองอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ซึ่งท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญการพิเศษด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ท่านจบจากอเมริกา ท่านก็นำเอาระบบรักษาความปลอดภัยมาแนะนำและนำมาปรับให้เข้ากับโรงพยาบาลเรา"



ผอ.รพ.อุดรธานีเล่าต่อว่า นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาล ยังได้ติดต่อประสานงานขอความอนุเคราะห์จากสภ.อ.เมืองอุดรธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีแม้บุคลากรตำรวจจะมีจำกัดแต่ก็ส่งเจ้าหน้าที่แวะเวียนมาดูแลความเรียบร้อยที่โรงพยาบาลเสมือนเป็นจุดตรวจหนึ่ง



"ในอนาคตเราพยายามจะตั้งเป็นสถานีตำรวจในโรงพยาบาลเราด้วย ต้องยอมรับว่าบางคนถ้าเห็นรปภ.ก็จะไม่เกรงกลัวเท่าตำรวจ การมีตำรวจป็นการป้องปรามได้ และนอกจากจะช่วยรักษาความปลอดภัยแล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกในการแจ้งเรื่องต่างๆ อาทิ กรณีเฉี่ยวชน ต้องแจ้งความ หรือกรณีทำร้ายร่างกาย ก็จะได้ไม่ต้องย้อนไปย้อนมาระหว่างโรงพักและโรงพยาบาล ก็มาที่เราจบในทีเดียวด้วยได้"



เมื่อถามถึงระบบการรักษาความปลอดภัยโดยละเอียด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานีระบุว่า ประตูห้องฉุกเฉินระบบใหม่ เป็นประตู 2 ชั้น โดยแต่ละประตูจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำประตูละ 1 คน ประตูแต่ละชั้นผ่านได้โดยการสแกนบัตรที่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ได้เฉพาะช่วงเวลานั้นเท่านั้น หากเริ่มมีเหตุการณ์ส่อเค้าว่าไม่ปกติ เจ้าหน้าที่รปภ.ที่ประตูชั้น1 ด้านนอกสุด จะกดสัญญาณแจ้งเข้ามายังห้องฉุกเฉิน เพื่อให้แพทย์ พยาบาล ได้ดูแลผู้ป่วย ตลอดจนนำอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพงออกจากพื้นที่เสี่ยง โดยภายในห้องฉุกเฉิน มีทางออกฉุกเฉิน 2 กรณีห้องฉุกเฉินถูกบุก แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ สามารถหลบออกมาได้อย่างปลอดภัย นอกจากนั้นได้ติดตั้ง CCTV จำนวนถึง 16 จุดในห้องฉุกเฉินและบริเวณรอบๆ เพื่อเป็นหลักฐานการเกิดกรณีไม่พึงประสงค์ รวมทั้งจัดจ้างรปภ.เพิ่ม ซึ่งระบบทั้งหมดนี้ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ได้รับการฝึกซ้อมเรื่องการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินรูปแบบต่างๆ รวมถึงการซ้อมเสมือนจริง เพื่อเพิ่มพูนทักษะการดูแลผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาล ในขณะที่แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่เอง ก็ต้องฝึกซ้อมกับระบบใหม่นี้ให้ชำนาญมากพอที่จะดูแลตนเองและผู้ป่วยให้ปลอดภัย โดยจัดซ้อมสม่ำเสมอทุก 3 เดือน รวมถึงได้มีการจัดจ้างรปภ.เพิ่ม อีกทั้งยังมีสถานีตำรวจชุมชนภายในโรงพยาบาล อีกด้วย




ผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาระบบความปลอดภัยแบบใหม่นี้ นพ.ณรงค์กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มใช้ ก็ไม่มีเหตุวุ่นวายในโรงพยาบาลอีกเลย



"พอทำระบบนี้ ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุวุ่นวายใดๆ เลยครับ เพราะเราเตรียมพร้อมกันตลอดเวลา และมีประสบการณ์การพบเหตุการณ์เช่นนี้ค่อนข้างบ่อย อย่างวันหยุดยาว หรือมีงานใหญ่ๆ ของจังหวัด นอกจากจะขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแวะเวียนมาดูแล เรายังขอความร่วมมือให้พร้อมรับแจ้งเหตุอย่างรวดเร็วด้วย อย่างกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุด ที่มีผู้บาดเจ็บ 4 คนมาเข้าห้องฉุกเฉิน เราได้สอบถามก่อนที่จุดคัดกรอง ทราบว่าเป็นเหตุทะเลาะวิวาทกันในสถานบันเทิง เราก็เรียกเจ้าหน้าที่รปภ.ประมาณ 10-12 นายทันทีให้มาคุมสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น แล้วรีบประสานงานไปทางตำรวจ ซึ่งตำรวจก็มาไวมาก จากประสบการณ์คือเราพอมีเวลา เราทำคนไข้ 4 คน เข้าไปทำแผล และคาดการณ์ว่าจะมีคนตามมาอีกประมาณสามสิบนาที ซึ่งเป็นจริงตามนั้น แต่โชคดีที่พวกที่ตามมา 10 กว่าคน เป็นพวกเดียวกันกับผู้บาดเจ็บ แต่เราก็ไม่ให้เข้า ไม่ให้เยี่ยม เพราะต่อให้เป็นกลุ่มเดียวกัน ก็อาจจะมีความไม่พอใจหมออย่างเคสสมุทรปราการได้ เราจึงให้รอด้านนอกห้องฉุกเฉิน มีเจ้าหน้าที่ไปสื่อสารกับกลุ่มเพื่อนผู้บาดเจ็บ ซึ่งก็เข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี"





ภาพจากวงจรปิดเมื่อตี1 วันที่22ก.ค. ที่มีกลุ่มวัยรุ่นนับสิบ เดินทางมาเยี่ยมเพื่อนที่บาดเจ็บจากเหตุทะเลาะวิวาท




นพ.ณรงค์ทิ้งท้ายเสมือนให้คำมั่นใจแก่บุคลากรทุกชีวิตในโรงพยาบาลอุดรธานี ว่าการปฏิบัติภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เหล่านั้น พวกเขาทั้งหมดจะกระทำในการดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยอย่างเต็มศักยภาพของทางโรงพยาบาล พร้อมทั้งยินดีหากโรงพยาบาลอื่นจะทำรูปแบบไปใช้ หรือมาดูงาน



"เราเตรียมพร้อมในทุกด้าน และตั้งใจจะพัฒนามาตรฐานให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของโรงพยาบาล ว่าเราเป็นโรงพยาบาลศูนย์ต้นแบบมาตรฐานสากล มีเครือข่ายการรักษาบริการ และเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ในที่นี้คำว่าต้นแบบมาตรฐานสากลของเราคือ World Class ห้องฉุกเฉินและโรงพยาบาลต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย และยินดีที่จะให้โรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศ นำรูปแบบของโรงพยาบาลอุดรธานีไปใช้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อบุคลากรสาธารณสุขทุกชีวิต และยินดีต้อนรับอย่างยิ่งหากท่านต้องการมาดูงานด้วยครับ" ผอ.โรงพยาบาลอุดรธานีทิ้งท้าย






พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ



ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพอากาศ และแพทย์อาสาแพทยสภา ได้แสดงความชื่นชมโรงพยาบาลอุดรธานี หลังรับทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และทางโรงพยาบาลรับมือได้รวดเร็ว รัดกุม และเรียบร้อยปลอดภัย


"ทางแพทยสภาพโดยกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้จัดสัมมนาเรื่องนี้ โดยให้ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งปรับตัวและพัฒนาด้านการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยง ทั้งในเรื่องของการติดกล้องวงจรปิดเพิ่ม การเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้วยการจัดจ้างเพิ่ม ซึ่งมีหลายโรงพยาบาลเริ่มดำเนินการแล้ว ซึ่งโรงพยาบาลอุดรธานี ได้มีระบบป้องกันที่ดี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ขอชื่นชม และแพทยสภาสนับสนุนให้โรงพยาบาลอื่นๆ ใช้เป็นต้นแบบหรือเดินทางไปดูงานในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม แต่ละโรงพยาบาลมีขนาดและงบประมาณไม่เท่ากัน บางโรงพยาบาลอาจจะทำได้ในระดับนี้ แต่บางโรงพยาบาลที่ติดขัดเรื่องงบประมาณ อาจจะดัดแปลงตามความเหมาะสม ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูแลแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือเรื่องของงบประมาณ และเรื่องของการจัดระเบียบ"


เลขาธิการแพทยสภา กล่าวต่ออีกว่า การป้องกัน เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เราไม่อยากให้เรื่องราวที่ไม่ดีเกิดขึ้น ไม่ได้อยากจับคนร้าย แต่ต้องการให้มีการป้องปรามเหตุร้าย แต่เมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้ว ก็อยากให้สื่อแจ้งข่าวต่อประชาชนอย่างรวดเร็ว อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลอย่างรวดเร็ว และอยากให้ลงโทษผู้กระทำผิดอย่างรวดเร็ว จะทำให้ผู้ที่คิดจะทำ หรือผู้ที่ขาดสติจะลงมือทำ ณ ขณะนั้น เกิดฉุกคิดเกรงกลัวกฎหมายและบทลงโทษ ที่ก่อนหน้านี้ที่เป็นคดี ก็มีตัดสินลงโทษไปบ้างแล้ว ก็จะเป็นการป้องปรามอีกทางหนึ่ง


พล.อ.ต.นพ.อิทธพร ฝากอีกหนึ่งประเด็นสำคัญด้วยว่า อยากฝากถึงโรงพยาบาลทุกแห่ง กรณีเวรดึก อยากให้มีเจ้าหน้าที่ชาย หรือบุรุษพยาบาล ประจำเวรกลางคืนด้วย เพราะแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เป็นสุภาพสตรี ที่ปฏิบัติหน้าที่ยามกลางคืน ค่อนข้างสุ่มเสี่ยง จึงอยากให้มีเจ้าหน้าที่ชายเข้าเวรช่วงนั้นร่วมด้วย


Powered by Froala Editor

ข่าวที่คุณอาจสนใจ
TOP NEWS
  • TODAY
  • WEEK
  • MONTH