ก้าวสู่ปีที่ 15…TNN ช่อง 16 จัดสัมมนาใหญ่ “การกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย The Great Reset” เตรียมพร้อมคนไทยสู่โลกหลังโควิด-19
ตอกย้ำความเป็นสถานีข่าวคุณภาพ “ทันโลก ทันเศรษฐกิจ ทันทุกความจริง” TNN ช่อง 16 เปิดเวทีสัมมนาฉลองก้าวสู่ปีที่ 15
ตอกย้ำความเป็นสถานีข่าวคุณภาพ “ทันโลก ทันเศรษฐกิจ ทันทุกความจริง” TNN ช่อง 16 เปิดเวทีสัมมนาฉลองก้าวสู่ปีที่ 15 “การกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย The Great Reset” ณ ห้องออดิทอเรียม ทรู ดิจิทัล พาร์ค รวมพลนักวิชาการพร้อมกูรูด้านเศรษฐกิจและการลงทุน เปิดมุมมองใหม่เชิงลึกอันเป็นกุญแจสำคัญในการวางกลยุทธ์สู้สภาพเศรษฐกิจ เตรียมคนไทยให้พร้อมรับมือสถานการณ์หลังโควิด-19 สร้างความมั่นใจและทิศทางการตลาดให้แก่นักลงทุน และนักธุรกิจ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 350 คน
ทรู ดิจิทัล พาร์ค 9 กันยายน 2565 – รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ (ที่ 5 จากขวา) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “การกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย The Great Reset” จัดโดยสถานีข่าว TNN ช่อง 16 พร้อมบรรยายพิเศษ โดยมีใจความสำคัญว่า “สถานการณ์ภาพรวมของประเทศไทยในระยะนี้ดีขึ้น ใกล้เคียงกับสถานการณ์ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ประเทศไทยจึงยังคงมีศักยภาพในการรับมือผลกระทบตกค้างของวิกฤตการณ์ โดยเฉพาะเรื่องของพลังงาน เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ราคาน้ำมันของไทยยังอยู่ในอันดับท้ายที่ราคาไม่สูงมากนัก โดยมีนายองอาจ ประภากมล (ที่ 4 จากซ้าย) หัวหน้าคณะผู้บริหารสายมีเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการสถานี TNN ช่อง 16 ให้การต้อนรับ พร้อมเปิดเผยวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า เพื่อตอกย้ำจุดยืนการเป็นสถานีข่าวคุณภาพนำเสนอข่าวสาร “ทันโลก ทันเศรษฐกิจ ทันทุกความจริง” และเพื่อเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สาระความรู้ต่อภาคเอกชน ทั้งนักธุรกิจ นักลงทุน และประชาชนชาวไทย ได้ตระหนักถึงสภาพเศรษฐกิจ และเปิดมุมมองใหม่ในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและไทยครึ่งปีหลัง 2565 พร้อมแนะกลยุทธ์การปรับตัวของภาคธุรกิจ ตลอดจนประชาชนชาวไทยเตรียมพร้อมรับมือสภาพเศรษฐกิจเพื่อก้าวสู่โลกหลังโควิด-19 อย่างมั่นคง
หลังจากนั้น ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ที่ 1 จากซ้าย) กล่าวถึง การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงนี้ ที่ต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดูแลความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เน้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยพิจารณาตามสถานการณ์ เพื่อสร้างสมดุลให้แก่เศรษฐกิจไทย ซึ่งคาดว่าจะกลับมาโตได้ในระดับก่อนโควิดช่วงปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ที่ 3 จากซ้าย) กล่าวถึงภาพรวมและความสำเร็จของการค้าระหว่างประเทศ ต้องเปลี่ยนแปลงจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมเข้าสู่ดิจิทัลทรานฟอร์ม 4.0 ให้ได้ สถานการณ์ของการแพร่ระบาดโควิดเกือบ 3 ปี ส่งผลต่อเศรษฐกิจทุกตัว เหลือเพียงภาคการส่งออกที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศส่งออกเป็นอันดับสองของโลก อย่างไรก็ตาม ถึงเวลาที่เราจะต้องรีเซตประเทศใหม่ ด้วยอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะมาพัฒนาประเทศต่อไป ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ที่ 2 จากซ้าย) เผยทิศทางการเติบโตของการท่องเที่ยว ตั้งแต่ปี 2562-2567 ถือว่าอยู่ในช่วงจมน้ำ หลังจากฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลับมาเติบโต แต่เทรนด์การท่องเที่ยวของโลกจะเปลี่ยนไปเพื่อตอบรับกับเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยว และดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (ที่ 3 จากขวา) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ มีโอกาสโตได้มากกว่า 3% ขณะที่ปี 2566 มีโอกาสจะโตได้ 4% แต่การฟื้นตัวจะยังเป็นแบบไม่ทั่วถึง ดังนั้น จึงเสนอโมเดลที่เปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยว่าเป็นแฝดสยาม เนื่องจากแม้จะยังมีการเติบโต แต่เป็นการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง มีทั้งกลุ่มที่อ่อนแอ และกลุ่มที่สามารถฟื้นตัวได้ดี โดยเศรษฐกิจไทยอาจแยกเป็น 2 ส่วน คือแฝดที่แข็งแรง อาทิ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป การท่องเที่ยวเมืองหลัก คอนโดมีเนียมแนวรถไฟฟ้า ธุรกิจขนาดใหญ่ที่เน้นส่งออกและลงทุนต่างประเทศ ส่วนแฝดที่อ่อนแอ อาทิ ภาคการเกษตร การท่องเที่ยวเมืองรอง อสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัด ธุรกิจที่เน้นการใช้ในประเทศ และ SME ในขณะที่กำลังซื้อในระดับกลางถึงบนเติบโตได้ดีขึ้น ส่วนกำลังซื้อระดับกลางถึงล่างยังไม่ค่อยดีนัก จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีความเชื่อมโยงกัน จะเติบโตแค่ฝั่งเดียวคงไม่สามารถอยู่รอดได้ เราต้องดูแลฝั่งที่อ่อนแอด้วย
และต่อเนื่องในช่วงบ่าย แบ่งปันสาระความรู้ เสริมความเข้าใจด้านการเงิน-การลงทุน ในหัวข้อ “ก้าวต่ออย่างไรให้สง่างามกับความท้าทายของ Next Chapter” โดยผู้บริหารระดับสูงจากกลุ่มธุรกิจทางด้านการเงินและการลงทุน ได้แก่ นายปิยพันธ์ วงศ์ยะรา ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท สต๊อคทูมอร์โรว์ จำกัด นายณัฐวัฒน์ อ้นรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายค้าหลักทรัพย์ บล. ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีมที่ปรึกษาการลงทุนธนาคารไทยพาณิชย์ และคุณมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด มาร่วมแลกเปลี่ยน และให้ข้อมูลแบบเจาะลึกด้านการลงทุน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเดินหน้าธุรกิจได้อย่างมั่นคง และเติบโตอย่างแข็งแรงในอนาคต ซึ่งงานครั้งนี้ได้รับกระแสตอบรับดีอย่างดียิ่ง โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมฟังสัมมนาเกินจำนวนที่กำหนด และประชาชนที่ให้ความสนใจในการรับชมผ่าน Facebook Live และ YouTube Live อย่างล้นหลาม สำหรับใครที่พลาดไลฟ์สดสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ สามารถชมแบบย้อนหลังผ่านช่องทาง Facebook พร้อมติดตามข่าวสารและกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ทาง TNN ช่อง 16 หรือผ่านช่องทางโซเชียลต่างๆ ของ TNN ได้ทุกช่องทาง