บันเทิง
รู้ไหม...ทะเลเกลียดอะไร?

รู้ไหม...ทะเลเกลียดอะไร?

รู้ไหม...ทะเลเกลียดอะไร?

"คุณรู้ไหม ทะเลเกลียดอะไร?" ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล ตั้งคำถามที่คนรักทะเลทุกคน...ต้องเงี่ยหูฟัง


"คุณรู้ไหม ทะเลเกลียดอะไร?"



บ่ายวันฝนกระหน่ำกรุง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชายผู้ใช้ทั้งชีวิต ประสบการณ์ และความสามารถของเขา เพื่ออนุรักษ์ สื่อสาร ช่วยเหลือ เยียวยา ท้องทะเลและธรรมชาติ ส่งเสียงตามสายเพื่อให้สัมภาษณ์ True4U หลังจากที่ในเฟซบุคส่วนตัวของเขา ลงภาพและข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์อัศจรรย์อันดามันที่เข้ามาในช่วงของการแพร่กระจายของ COVID-19 ที่มนุษย์จำต้อง "หยุด" เพื่อตัวเอง แต่ผลพลอยได้คือการกลับมาของธรรมชาติที่สมบูรณ์กว่าที่เคย



"สรุปสัตว์อัศจรรย์ทะเลอันดามันที่เข้ามาในช่วงมนุษย์หยุดเพราะโควิดให้เพื่อนธรณ์ครับ หลักๆ คือเต่ามะเฟือง พะยูน วาฬเพชฌฆาตดำ และฉลามหูดำ #เต่ามะเฟือง เข้ามาวางไข่ก่อนโควิด ลูกเต่าบางรังเกิดในช่วงโควิด ว่ายลงทะเลไร้เรือ ยังมีรายงานเต่าทะเลอื่นๆ เช่น เต่าตนุ ขึ้นมาวางไข่ถึงชายฝั่ง รวมถึงหาดหน้าสนามบิน พื้นที่สำคัญคือ turtle coast ตั้งแต่เหนือภูเก็ตขึ้นไปจนถึงพังงาและระนองใต้ แถวนี้มีมาตรการบางอย่างช่วงแม่เต่าวางไข่ ยังเป็นพื้นที่รณรงค์เรื่องขยะทะเล หากจัดเป็นพื้นที่เน้นหนักในเรื่องนี้ ทั้งกิจกรรมท่องเที่ยวไม่รบกวนหาด การสัญจรทางน้ำต่างๆ ในช่วงเต่าวางไข่ กานเน้นเป็นพื้นที่โมเดลขยะทะเล เรื่องพวกนี้จะช่วยได้เยอะ และเชื่อว่าทั้งภาครัฐ/ท้องถิ่น/พี่น้องแถวนั้น พร้อมสำหรับการเดินหน้าครับ #พะยูน อยู่ในพื้นที่เดิม ตรัง/กระบี่ แต่ว่ายอย่างเสรีเพราะไม่มีเรือ ยังมีรายงานการพบพะยูนที่คุระบุรี



มาเรียมโปรเจ็คมีแผนต่างๆ ในการดูแลพื้นที่ กันบางส่วนไม่ให้เรือเข้า ไม่อนุญาตให้นำเรือต่างถิ่นเข้าไป ดูแลเครื่องมือประมงบางชนิด เรื่องพวกนี้ช่วยได้แน่นอน หลังโควิดหากเราเดินหน้าต่อ สนับสนุนคนในพื้นที่อย่างจริงจัง ทำให้เกิดระบบถาวรได้ จะมีส่วนช่วยเยอะมาก



#ฉลามหูดำ มาเป็นฝูงในเขตน้ำตื้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม สุรินทร์/ตาชัย พีพี/เกาะห้อง เราอาจเริ่มศึกษาประชากร/พฤติกรรมฉลามกลุ่มนี้ รวมถึงการกำหนดพื้นที่บางแห่งให้เป็นเขตปลอดเรือ เปิดพื้นที่ให้ฝูงฉลามมากขึ้น ยังหมายถึงการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยว ปรับแผนบริการจัดการอุทยานต่างๆ ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความเป็นจริงในยุคหลังโควิด



#วาฬและโลมา มีข่าววาฬเพชฌฆาตดำแถวลันตา หลังจากไม่มีรายงานมานาน ยังมีโลมาหากินตามพื้นที่ใกล้ฝั่ง เช่น หาดภูเก็ต เหตุผลสำคัญคือเรือหายไป ทำให้สัตว์กล้าเข้ามาใกล้กว่าเดิม การดูแลเรื่องนี้ต้องเน้นการสัญจรทางน้ำและเรือท่องเที่ยว หากเราเริ่มระบบติดตามเรืออย่างจริงจัง เราจะได้ทั้งความปลอดภัยและดูแลธรรมชาติ ตอนนี้มีระบบต่างๆ บ้างแล้ว หากมีการเชื่อมต่อกันให้สมบูรณ์ ระหว่างกรมเจ้าท่า กรมอุทยาน กรมทะเล ก.ท่องเที่ยว จะสร้างการท่องเที่ยวยุคใหม่ของอันดามันได้จริง



ทั้งหมดนี้คือแนวทางที่ผมคิดว่าจะช่วยให้อันดามันอยู่กับเราอีกยาวๆ ยังรวมถึงการเดินหน้าโรงพยาบาลสัตว์ ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์หายาก และศูนย์พะยูนที่ตรัง ทั้งหมดของกรมทะเล โดยบางแห่งมีภาคเอกชนสนับสนุน หากไม่ติดขัดใดๆ ไปต่อได้ เราจะเห็นการยกระดับสถานที่/อุปกรณ์/บุคลากร อย่างมีประสิทธิภาพมากๆ



อ้อ มีอีกเรื่องที่คุยกันมานานนับ 10+ ปี นั่นคือ #โครงการอันดามันมรดกโลก เป็นจังหวะดีมากที่เราควรเดินหน้า วันหลังจะมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง



นี่คือสิ่งที่เขาบอกเล่า พร้อมทั้งเผยแพร่แผนที่อันน่าชื่นใจ ว่าสัตว์เหล่านั้น ถูกพบที่ใดบ้างให้เข้าใจได้ง่าย



"โควิด19กระทบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวมาก รายได้อุทยานหายหมด ต้องเรียนให้ทราบก่อนว่างบประมาณของกรมอุทยาน มาจากรายได้จากค่าเข้าชมอุทยาน หลักๆ ได้จากอุทยานแห่งชาติทางทะเลประมาณ 80% ของอุทยานแห่งชาติทั้งหมด และนำมาเลี้ยงอุทยานฯ 150 แห่ง รวมถึงงบประมาณจัดการไฟป่าด้วย และในเมื่อเรามีรายได้เช่นนี้ สำนักงบประมาณก็ดึงงบประมาณของกรมฯ ออก และให้เรานำรายได้ส่วนนี้ นำไปใช้ในกรมฯ ได้เลย ไม่ต้องส่งกระทรวงการคลัง แต่เมื่อโควิด-19 มา คนหาย นักท่องเที่ยวหาย เราไม่มีเงินเลย"



ดร.ธรณ์อธิบายว่า เพียงพื้นฐานของการดูแลและอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติทางทะเล อย่างการลาดตระเวณ ตรวจตราปกป้องดูแลทรัพยากร ทุกสิ่งเป็นงบประมาณทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยเลี้ยง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงรถหรือเรือต่างๆ



"รายได้ของอุทยานฯ หลักๆ มาจากต่างชาติ อย่างค่าเข้าสิมิลัน เก็บคนไทย 40 เก็บต่างชาติ 500 ซึ่งต่อให้หลังจากนี้เริ่มไปเที่ยวกัน ซึ่งก็จะเป็นนักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่ งบประมาณก็จะยังไม่ได้มากพอจะนำไปจัดการได้เหมือนก่อนที่มีโควิด19 อีกทั้งรายได้ 50% ของเรามาจากช่วงไฮ-ซีซั่น แต่โควิด19 ซัดตั้งแต่ มีนาคม เมษายน ผมว่าพฤษภาคมก็ยังไม่เที่ยว อาจจะเริ่มๆ ประมาณ มิถุนายน รายได้ตรงนี้ หายไปเกือบพันล้าน หัวใจสำคัญคือเงินครับ จากนั้นค่อยดูแลเรื่องการท่องเที่ยวแนวใหม่"



รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุดประเด็นน่าสนใจในคำถามที่ชวนให้หาคำตอบว่า...ทีนี้ เรามีเวลาแค่ไหน? เวลาสำหรับการเตรียมความพร้อมในการรับมือนักท่องเที่ยวที่จะไหลบ่าเข้ามา หลังโควิด19 เริ่มผ่อนแรงบรรเทาลง และท่ามกลางงบประมาณที่หายไปเป็นพันล้าน จะมีแนวทางใดที่จัดการได้บ้าง



"ททท.ก็เล็งช่วงมิถุนายนถึงสิงหาคมเอาไว้ ไทยเที่ยวไทย คิดว่าคนคงเที่ยวใกล้ๆ เราทำไทม์ไลน์ ทำแผน เอาพื้นที่มา Match กัน ดู Area ใกล้ๆ น่าจะเป็นบางแสน พัทยา เสม็ด เกาะช้างนิดหน่อย เราน่าจะมีเวลาจนถึงช่วงนั้น"



ดร.ธรณ์อธิบาย พร้อมทั้งกล่าวต่อ



"คุณรู้ไหม ทะเลเกลียดอะไร? ทะเลเกลียดคนเยอะ เกลียดคนเบียดเสียดกัน แห่กันไปทะเล มันประจวบเหมาะกับโควิด19 ที่มี Social Distance ทะเลจึงกลับมาสวย กลับมาดี นี่เป็นโอกาสที่จะทำต่อ สิ่งที่เราทำได้คือการอธิบายสร้างความเข้าใจ ว่าตอนนี้ทะเลมันดีอยู่แล้ว เพราะคนหายไป ทะเลจะดีถ้ามีคนน้อย หรือมีการจำกัดจำนวนที่เหมาะสม ซึ่งมันสอดคล้องกับ Social Distance จากโควิด19 ทีนี้แต่ละหาด แต่ละอุทยานฯ ต้องดูแลจัดการ วางนโยบายมาตรการการจำกัดคนตามขีดความสามารถของการรองรับนักท่องเที่ยวของหาดหรืออุทยานฯ นั้น เช่น ถ้าที่นั่งเรือมี 100 ที่นั่ง อาจจะรับแค่ 40 คน ครับ" รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สรุป


Powered by Froala Editor

ข่าวที่คุณอาจสนใจ
TOP NEWS
  • TODAY
  • WEEK
  • MONTH